ที่มาของแผนปฏิบัติราชการ
แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการรายปี
ที่มาของการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี นั้น เกิดขึ้นจากการกำหนด ตาม พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 13 ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีแผนการบริหารราชการแผ่นดินตลอดระยะเวลาการบริหารราชการของคณะรัฐมนตรี
เมื่อคณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณร่วมกันจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และจากมาตรา 16 ได้กำหนดให้ส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติกราชการของส่วนราชการนั้น โดยจัดทำเป็นแผน 4 ปี ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา 13 ในแต่ละปีงบประมาณ ให้ส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี โดยให้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการปฏิบัติราชการ เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ของงาน และงบประมาณ รวมถึงทรัพยากรอื่นที่จะต้องใช้เสนอขอความเห็นชอบแผนปฏิบัติราชการต่อรัฐมนตรี และหากภารกิจใดไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี มิให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสำหรับภารกิจนั้น
เมื่อสิ้นปีงบประมาณต้องให้ส่วนราชการจัดทำรายงานแสดงผลสัมฤทธิ์ของแผนปฎิบัติราชการประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีด้วย
สรุปคือ แผนปฏิบัติราชการรายปี หรือแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ (Action Plan) จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินการพัฒนาและบริหารจัดการงานตามภารกิจของหน่วยงานให้บรรลุผล ซึ่งเกิดจากการเชื่อมโยงกับนโยบาย แผนการบริหารจัดการ และแผนพัฒนาหน่วยงานที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ซึ่งแผนปฏิบัติราชการรายปีจะมีความละเอียดและชัดเจนขึ้น เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและเป็นกรอบในการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยนำประเด็นยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการที่ผ่านความเห็นชอบและได้รับการจัดสรรงบประมาณมาแจกแจงรายละเอียด เกี่ยวกับตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย แนวทางการปฏิบัติงาน กรอบเวลาในการดำเนินงาน หน่วยงานหลักและผู้ที่รับผิดชอบ รวมถึงงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน และการรายงานผลการปฏิบัติงานราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ
เอกสารอ้างอิง
พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 (9 ตุลาคม 2546). ราชกิจจานุเบกษา,
เล่ม 120 ตอนที่ 100 ก.
วรรณวิภา วีระพงศ์
นักวิเคราะห์นโยบายและแผน
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช