XR คืออะไร

XR



nopic

          XR หรือ Extended Reality นั้นเป็นเทคโนโลยีเสมือนจริงที่ผสมผสานหลากหลายมิติเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในโลกจริง สภาพแวดล้อมดิจิทัล รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสวมใส่ ถ้าหากจะทำความเข้าใจอย่างง่ายนั้นอาจหมายถึงการรวมเอาเทคโนโลยี VR+MR+AR = XR ก็คงไม่เกินจริงไปนัก ซึ่งจากการให้นิยามของบางสำนักนั้นให้ความหมายของ XR ว่า X นั้นอาจแทนได้ด้วยตัวอักษรใด ๆ ก็ได้

         ปัจจุบันเทคโนโลยีกลุ่ม Reality นั้นนิยมใช้ในการฝึกฝนการทำงานสำหรับภาคธุรกิจและการศึกษา เนื่องจากสามารถลดต้นทุนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในการฝึกฝน โดยเฉพาะการฝึกทักษะกับอุปกรณ์ที่มีราคาสูงหรือมีอันตรายในการลงมือจริง เช่น งานซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะน้ำมันหรือฝึกฝนสำหรับงานเชื่อมเป็นต้น

จุดเด่นของ XR นอกเหนือจากการผนวกรวมกันของเทคโนโลยีเสมือนจริงต่าง ๆ แล้ว ในส่วนของอุปกรณ์ควบคุมนั้นยังสามารถเลือกใช้ได้ทั้งคำสั่งท่าทาง (Gesture) หรือดำเนินการผ่านอุปกรณ์ควบคุม (Controller) ได้อีกด้วย แม้ว่าเทคโนโลยีเสมือนจริงอื่น ๆ นั้นจะมีการปรับใช้กันในการทำงานและชีวิตประจำวันแล้วแต่สำหรับ XR นั้นการเข้าถึงอาจยังมีกำแพงที่สูงด้วยต้นทุนด้านเทคโนโลยีที่มีราคาแพงไม่ว่าจะเป็นฮษร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ก็ตามที

จากบทความ ‘A Review of Extended Reality (XR) Technologies for Manufacturing Training’ ที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2020 ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการใช้งาน XR ในกิจกรรมของงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการฝึกทักษะแรงงาน ไม่เพียงแต่ในส่วนของการฝึกอบรมงานซ่อมบำรุงและการฝึกประกอบชิ้นส่วนเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับงานที่ต้องฝึกฝนกระบวนการการรับรู้ (Cognition) และยังใช้ในการตรวจสอบวิเคราะห์การฝึกฝนที่มีอยู่เดิมว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไรได้อีกด้วย

ในอีกแง่มุมหนึ่งการใช้ XR กับหุ่นยนต์ก็มีงานวิจัยออกมาอีกไม่น้อยเช่นกัน โดยใช้เพื่อฝึกฝนหุ่นยนต์ให้ทำงานตามขั้นตอนต่างๆ ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกับมนุษย์ก็สามารถทำได้ ซึ่งนอกเหนือจากงานอุตสาหกรรมแล้ว การใช้งานทางการแพทย์ ทางการทหารและกิจกรรมอื่น ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน


By : กฤษฎา จิตสมพงษ์

โปรไฟล์ Blog โปรไฟล์ E-portfolio

หมวดหมู่ : ข่าวสาร / ความรู้

ผู้เข้าชม 414 ครั้ง 2023-04-18 06:53:54

Comment แสดงความคิดเห็น