มาตรฐานการทำงานของระบบเครือข่ายไร้สาย IEEE802.11 มีอะไรบ้าง ?

มาตรฐานการทำงานของระบบเครือข่ายไร้สาย IEEE802.11 มีอะไรบ้าง ?



nopic

   - มาตรฐาน IEEE 802.11a ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า OFDM (Orthogonal Frequency Division Multiplexing) เพื่อปรับปรุงความเร็วในการส่งข้อมูลให้วิ่งได้สูงถึง 54 Mbps บนความถี่ 5Ghz ซึ่งจะมีคลื่นรบกวนน้อยกว่าความถี่ 2.4 Ghz ที่มาตรฐานอื่นใช้กัน ที่ความเร็วนี้สามารถทำการแพร่ภาพและข่าวสารที่ต้องการความละเอียดสูงได้ อัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลสามารถปรับระดับให้ช้าลงได้ เพื่อเพิ่มระยะทางการเชื่อมต่อให้มากขึ้นสำหรับ Wireless Lan ที่มีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลประมาณ 54 Mbps ทำงานในย่านความถี่ 5 GHz สามารถปรับอัตราความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลได้ตามต้องการ ที่สำคัญสามารถใช้ในการรับ-ส่งรูปภาพ วิดีโอ และข้อมูลที่มีความคมชัดสูงได้

   - มาตรฐาน IEEE 802.11b ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า CCK (Complimentary Code Keying) ผนวกกับ DSSS (Direct Sequence Spread Spectrum) เพื่อปรับปรุงความสามารถของอุปกรณ์ให้รับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงสุดที่ 11 Mbps ผ่านคลื่นวิทยุความถี่ 2.4 GHz เนื่องจากการใช้คลื่นความถี่ที่ต่ำกว่าอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐาน IEEE 802.11a ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้มาตรฐานนี้จะมีความสามารถในการส่งคลื่นสัญญาณไปได้ไกลกว่าคือประมาณ 38 เมตรในโครงสร้างปิดและ 140 เมตรในที่โล่งแจ้ง รวมถึง สัญญาณสามารถทะลุทะลวงโครงสร้างตึกได้มากกว่าอุปกรณ์ที่รองรับกับมาตรฐาน IEEE 802.11a อุปกรณ์ที่สามารถทำงานกับคลื่นความถี่นี้ได้จะต้องผ่านการรับรองจากสถาบัน Wireless Alliance เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันที่ยอมรับได้ โดยมาตรฐานดังกล่าวมีระบบการเข้ารหัสข้อมูลแบบ WEP ที่ 128 บิต สามารถนำไปใช้งานได้ทุกประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต

   - มาตรฐาน IEEE 802.11e อมาตรฐานนี้ถูกออกแบบมาใช้สำหรับแอพ VoIP (Voice over IP) โดยเฉพาะ เพื่อให้มีการปรับปรุง MAC Layer ให้มีประสิทธิภาพและควบคุมและรับประกันคุณภาพการใช้งานคลื่นความถี่ตามหลักการ Quality of Service

   - มาตรฐาน IEEE 802.11f มาตรฐานดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อจัดการผู้ใช้งานที่ข้ามเขตการให้บริการของ Access Point หนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งเพื่อให้บริการ Roaming สัญญาณระหว่างกัน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Inter Access Point Protocol (IAPP)

   - มาตรฐาน IEEE 802.11g มาตรฐานชนิดนี้ได้รับการต่อยอดขึ้นมาจากมาตรฐาน 802.11b โดยเฉพาะการเพิ่มความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลไปยังระดับ 54 Mbps เทียบเท่ากับกับ มาตรฐาน 802.11a อย่างไรก็ตาม มาตรฐานนี้ยังคงคลื่นความถี่อยู่ที่ 2.4 GHz เช่นเดิม รวมทั้งยังเป็นคลื่นความถี่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต ซึ่งจุดเด่นดังกล่าวก็ทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน โดยเฉพาะการได้รับสัญญาณรบกวนจากอุปกรณ์ที่ใช้คลื่นความถี่เดียวกัน ส่งผลต่อความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล แตกต่างจาก 5 GHz ที่ไม่ค่อยมีคนแย่งสัญญาณจึงทำให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งกว่า

   - มาตรฐาน IEEE 802.11h มาตรฐานชนิดนี้ถูกออกแบบมาใช้สำหรับอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายที่ใช้งานย่านความถี่ 5 GHz เพื่อให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดการใช้ความถี่ของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปเป็นหลัก ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกับการผู้ใช้งานคลื่นความถี่ภายในประเทศไทยเท่าใดนัก

   - มาตรฐาน IEEE 802.11n มาตรฐานชนิดนี้ถูกออกแบบมาใช้สำหรับอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายที่ใช้งานย่านความถี่ 2.4 GHz โดยเชิงทฤษฎีสามารถให้อัตราการส่งถ่ายข้อมูลสูงสุดถึง 300 Mbps มีความสามารถในการส่งคลื่นสัญญาณ ได้ระยะประมาณ 70 เมตรในโครงสร้างปิด และ 250 เมตรในที่โล่งแจ้ง เพิ่มความสามารถในการกันสัญญาณกวนจากอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ความถี่ 2.4GHz เหมือนกัน และสามารถรองรับอุปกรณ์มาตรฐาน IEEE 802.11b และ IEEE 802.11g ได้ ซึ่งจะถูกจำกัดความเร็วตามมาตรฐานนั้น ๆ

   - มาตรฐาน IEEE 802.11ac มาตรฐานดังกล่าวเป็นส่วนขยายที่พัฒนามาจากมาตรฐาน 802.11n เพิ่มศักยภาพในการรับ-ส่งข้อมูลได้อย่างมีความรวดเร็วเป็นอย่างมาก ตลอดจนสามารถส่งข้อมูลได้พร้อมกันหลายช่องทางเนื่องจากสัญญาณมีความเสถียรและช่องสัญญาณกว้างมากขึ้น คลื่นความถี่นี้ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่ม Channel Bonding จาก 40 MHz เป็น 80 และ 160 MHz ส่งผลให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังเพิ่ม MIMO ให้สามารถรองรับการส่งข้อมูลได้มากถึง 8 Spatial Streams ภายในเวลาเดียวกัน ที่สำคัญคือการรับ-ส่งข้อมูลด้วยคลื่นความถี่ตามมาตรฐาน IEEE 802.11ac มีความเร็วสูงสุดมากถึง 1.3 Gbps

   - มาตรฐาน IEEE 802.11ax มาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สายความเร็วสูง ทำงานบนพื้นฐานคลื่นความถี่ 2.4GHz และ 5GHz เหมือน IEEE 802.11ac แต่ได้รับการออกแบบช่องสัญญาณใหม่ ให้ส่งข้อมูลได้พร้อมกันในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจะเรียกว่า OFDA (Orthogonal Frequency Division Access) ในช่วงเวลาเดียวกัน สามารถส่งข้อมูลออกไปพร้อมๆ กันได้หลาย Device ตามทฤษฎีมีความเร็วเพิ่มมากกว่าเดิม 4 เท่า ทำความเร็วได้มากถึง 3.5Gbps

By : วัชรพงษ์ สงวนคำ

โปรไฟล์ Blog โปรไฟล์ E-portfolio

หมวดหมู่ : เน็ตเวิร์คและเครือข่าย

ผู้เข้าชม 10288 ครั้ง 2023-04-16 08:48:26

Comment แสดงความคิดเห็น