ประวัติ

สำนักงานอธิการบดี” เป็นหน่วยงานกลางของมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่บริหารงานทั่วไป และงานบริการที่สนับสนุนให้คณะ สำนัก สถาบันและโครงการต่าง ๆ ดำเนินไปตามภารกิจทั้งเจ็ดประการให้ถูกต้องสมบูรณ์รวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในลักษณะเดียวกับ “กองกลาง” ของมหาวิทยาลัย วิวัฒนาการมาจากฝ่ายธุรการและพัฒนาขึ้นมาโดยลำดับ จนกระทั่งกลายเป็น “สำนักงานอธิการ” และ“สำนักงานอธิการบดี” ตามลำดับตามความในพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูและพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏพุทธศักราช 2538  หน่วยงานนี้มีประวัติความเป็นมาในการจัดตั้ง ดังนี้

          1. ยุคโรงเรียนฝึกหัดครู เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูนครศรีธรรมราช” เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2500  กรมการฝึกหัดครูแต่งตั้ง นายแวว นิลพยัคฆ์ เป็นอาจารย์ใหญ่  และแต่งตั้ง นายเกลิ่ม คงแสง อาจารย์โทโรงเรียนฝึกหัดครูตรังมาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายธุรการของโรงเรียนฝึกหัดครู โดยใช้ห้องทำงานในอาคารห้องสมุดประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช (บริเวณสนามหน้าเมือง) เป็นที่ทำการของฝ่ายธุรการ  นายเกลิ่ม คงแสง  ได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายธุรการมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน 2503 จึงย้ายที่ทำการของฝ่ายธุรการมาอยู่ ณ อาคารเรียน 5 บริเวณเชิงเขามหาชัย (ซึ่งเพิ่งก่อสร้างเสร็จ) ฝ่ายธุรการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของสถานศึกษาแห่งนี้มาตลอดยุคโรงเรียนฝึกหัดครู โดยมีผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายธุรการเป็นผู้บังคับบัญชา

          2. ยุควิทยาลัยครู เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะสถานศึกษาแห่งนี้ขึ้นเป็น“วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช” เมื่อ พ.ศ. 2512 ฝ่ายธุรการยังคงปฏิบัติภารกิจเดิมในอาคารหลังใหม่ คือ อาคาร 6 (ห้อง 611) ขอบเขตของงานได้ขยายกว้างขึ้น เนื่องจากภารกิจการผลิตครูได้ขยายขึ้นเป็นระดับ ปกศ. ชั้นสูง และกรมการฝึกหัดครูได้เปลี่ยนสายการบังคับบัญชาของสถานศึกษาจากที่ขึ้นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ขึ้นตรงต่อกรมในฐานะเป็นหน่วยราชการส่วนกลาง ฝ่ายธุรการในยุคนี้จึงมีผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายธุรการเป็นผู้บังคับบัญชา

          3. ยุคพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518  เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู       พ.ศ. 2518 เป็นเหตุให้โครงสร้างส่วนราชการของสถาบันต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ในปีพุทธศักราช 2519 จึงได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการแบ่งส่วนราชการในวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชเสียใหม่ ในประกาศดังกล่าว       ได้ขยายงานฝ่ายธุรการขึ้นเป็น “สำนักงานอธิการ” มีหัวหน้าสำนักงานอธิการเป็นผู้บังคับบัญชาและขึ้นตรงต่ออธิการ สำนักงานอธิการประกอบด้วย 12 ฝ่าย คือ ฝ่ายสารบรรณ ฝ่ายทะเบียนประวัติ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นฝ่ายการเจ้าหน้าที่) ฝ่ายการเงิน ฝ่ายพัสดุ ฝ่ายยานพาหนะ ฝ่ายอาคารสถานที่ ฝ่ายอนามัยและสุขาภิบาล ฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายเอกสารการพิมพ์ ฝ่ายทะเบียนวัดผล และฝ่ายโสตทัศนศึกษา และฝ่ายห้องสมุด

          4. ยุคพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2527 เมื่อพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พุทธศักราช 2518  ใช้ไปได้ระยะหนึ่งก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมความในพระราชบัญญัติฉบับเดิมบางมาตราเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเปิดสอนในสาขาวิชาอื่นนอกเหนือจากสาขาวิชาการศึกษา เมื่อรัฐสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในปีพุทธศักราช 2527 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศแบ่งส่วนราชการในวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชเสียใหม่  เฉพาะในสำนักงานอธิการได้ลดจำนวยฝ่ายลงเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติกำกับดูแล จึงคงเหลือเพียง 11 ฝ่าย คือ ฝ่ายธุรการ ฝ่ายการเจ้าหน้าที่ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายพัสดุ ฝ่ายยานพาหนะ ฝ่ายอาคารสถานที่ ฝ่ายอนามัยและสุขาภิบาล ฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายเลขานุการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายเอกสารการพิมพ์ มีหัวหน้าสำนักงานอธิการเป็นผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ดี เนื่องจากฝ่ายเอกสารการพิมพ์มีบุคลากรน้อย ไม่มีห้องจะใช้สอยเพียงพอ ประกอบกับเห็นว่าลักษณะงานนี้สอดคล้องกับงานของฝ่ายเอกสารตำรา ซึ่งควรขึ้นกับสำนักส่งเสริมวิชาการ คณะกรรมการบริหารวิทยาลัย (กบ.) ในสมัยนั้น จึงมีมติให้ยุบฝ่ายเอกสารพิมพ์และให้ฝากครุภัณฑ์เครื่องมือเครื่องใช้และบุคลากร (ระดับเจ้าหน้าที่) ไว้ในกำกับดูแลของฝ่ายเอกสารตำราแทน

          5. ยุคพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ  เมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏพุทธศักราช 2538 ได้ส่งผลให้สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราชต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานภายในสถาบันเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับความในพระราชบัญญัติ ในการนี้สำนักงานอธิการเดิมได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานอธิการบดี” โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2538 เป็นต้นมา ประกอบด้วยสามกลุ่ม คือ กลุ่มอำนวยการ กลุ่มการเงินและพัสดุ และกลุ่มบริการ

          6. ยุคพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏพุทธศักราช ๒๕๔๗ ส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานภายในเสียใหม่ให้สอดคล้องกับความในพระราชบัญญัติ ในการนี้สำนักงานอธิการบดี ประกอบด้วยสามกอง คือ กองกลาง กองนโยบายและแผน และ   กองพัฒนานักศึกษา

 

อาคารที่ทำการ

          สำนักงานอธิการบดีมีที่ทำการมาแล้ว 7 แห่ง

          1. อาคารเรียน 5 เนื่องจากระยะแรกของการก่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูนครศรีธรรมราช ยังไม่สามารถจัดหาอาคารสำหรับใช้เป็นที่ทำการเป็นเอกเทศได้ จึงได้อาศัยอาคารเรียน 5 (ห้อง 511) เป็นที่ทำการชั่วคราว อาคารหลังนี้เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคาทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ อาคารมีขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 90 เมตร สร้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินปี 2502 วงเงิน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) เพื่อใช้เป็นอาคารสาธิตสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลศึกษา แต่เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีอาคารเรียนสำหรับเรียนฝึกหัดครูระดับ ป.กศ. จึงแบ่งพื้นที่อาคารเรียนเพื่อใช้เป็นที่ทำการของแผนกสารบรรณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา

          2. อาคารเรียน 6 เมื่อปีงบประมาณ 2507 กรมการฝึกหัดครูได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนสำหรับนักเรียนฝึกหัดครูระดับ ป.กศ. เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2509 (รวม 3 ปีงบประมาณ) อาคารหลังนี้เป็นอาคาร ค.ส.ล สามชั้นหลังคาทรงจั่วซ้อนกันสองชั้น มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ อาคารมีขนาด 14×60 เมตร  พื้นชั้นล่างเป็น ค.ส.ล. ส่วนชั้นสองและสามเป็นไม้สร้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2507 - 2508  จำนวน 2.5 ล้านบาท  เมื่อสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2509 จึงได้ย้ายที่ทำการของฝ่ายธุรการมายังอาคารเรียนหลังนี้

          3. อาคารเรียน 9 เมื่อปีงบประมาณ 2511 กรมการฝึกหัดครูได้จัดสรรงบประมาณหมวดค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เพื่อก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกหลังหนึ่ง คือ อาคารเรียน 9 เพื่อรองรับการเปิดสอนนักศึกษาในระดับ ป.กศ.ชั้นสูง อาคารหลังนี้เป็นอาคาร ค.ส.ล. สามชั้น หลังคาเป็นพื้นสแล็ป อาคารมีขนาด 14×60 เมตร สร้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. 2511 จำนวน 3 ล้านบาท เมื่อสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2512 จึงได้ย้ายที่ทำการของฝ่ายธุรการจากอาคารเรียน 6 ซึ่งคับแคบและไม่สะดวกแก่การบริหารงาน ไปอยู่ที่อาคารหลังนี้

          4. อาคารเอกเทศ  เมื่อสถานศึกษาได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยครู นายทวี ท่อแก้ว ผู้อำนวยการในสมัยนั้นได้พิจารณาเห็นว่าห้องธุรการซึ่งเป็นหัวใจของการบริหารค่อนข้างคับแคบและอยู่ไกลจากห้องผู้อำนวยการทำให้เกิดความล่าช้าในการบริหาร บริการ และการสั่งการ จึงได้มีดำริก่อสร้างอาคารสำนักงานอธิการ นายทวี ท่อแก้ว จึงได้นำเงินงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. 2516 ในหมวดค่าตอบแทนใช้สอยวัสดุ จำนวน 20,000 บาท มาสมทบกับเงินบำรุงการศึกษา จัดซื้อวัสดุก่อสร้างมาให้นักศึกษาที่เรียนในรายวิชาหัตถศึกษาตามหลักสูตร ป.กศ. ฝึกปฏิบัติแทน อาคารนี้เป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาทรงจั่ว กระเบื้องลอนคู่ เสาไม้เนื้อแข็งขนาด 2×6 นิ้ว (ประกอบกันเป็นต้นเดียว) อาคารมีขนาด 12×48 เมตร ฝาผนังเป็นกระเบื้องแผ่นเรียบ (กรุสองหน้า) สามารถใช้เป็นที่ทำการของฝ่ายธุรการและสำนักงานของผู้อำนวยการตั้งแต่ พ.ศ. 2517

          5. อาคารเรียน 12  เมื่อได้ใช้อาคารหลังเดิมมาระยะหนึ่ง ปริมาณงานในฝ่ายต่าง ๆ ของสำนักงานอธิการได้ขยายตัวขึ้นทำให้พื้นที่ในอาคารเดิมเริ่มคับแคบ ประจวบกับในปีงบประมาณ 2525 กรมการฝึกหัดครู ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนเทคโนโลยีทางการศึกษาให้หลังหนึ่ง (คือ อาคารเรียน 12) เมื่อก่อสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2526 นายกลาย กระจายวงศ์ อธิการในสมัยนั้นจึงสั่งการให้ย้ายที่ทำการสำนักงานอธิการไปอยู่ที่อาคารเรียน 12 (ชั้นล่าง) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นมา อาคารหลังนี้เป็นอาคาร ค.ส.ล. สามชั้น มีขนาด 14 × 56 เมตร  รูปแบบเดียวกับอาคาร 9  สร้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. 2525 จำนวน 12.5 ล้านบาท ชั้นล่างใช้เป็นที่ทำการของสำนักงานอธิการบดี

          6. อาคารเรียน 1 เมื่อ พ.ศ. 2541 คณะกรรมการภูมิทัศน์โดยความเห็นชอบของนายเหม ทองชัย อธิการบดี ได้พิจารณาเห็นว่าสำนักงานอธิการบดีซึ่งเป็นหัวใจของการบริหารค่อนข้างคับแคบ และบางฝ่ายต้องแยกไปอยู่ไกลจากอาคารสำนักงานอธิการบดี ทำให้เกิดความล่าช้าในการบริหาร บริการ และการสั่งการ จึงได้มีมติให้ปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร 1 ใช้เป็นที่ทำการสำนักงานอธิการบดีขึ้นเป็นเอกเทศโดยรวมงานในส่วนของสำนักงานอธิการบดีทุกฝ่ายไว้ด้วยกัน จึงจัดสรรงบประมาณ 3.5 ล้านบาท มาปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหลังนี้ ในปีการศึกษา 2542

          อาคารหลังนี้เป็นอาคาร ค.ส.ล สูงสองชั้น แต่เดิมความกว้าง 10 เมตร ยาว 56 เมตร หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องลอนคู่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2501  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ตำแหน่งในสมัยนั้น) ได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2501 ถือเป็นอาคารหลังแรกของสถาบันแห่งนี้เริ่มแรกได้ใช้เป็นอาคารหอพักนักศึกษาชาย ต่อมาใน พ.ศ. 2519 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นอาคารเรียนของภาควิชาพลศึกษาและนันทนาการ ต่อมาได้ปรับปรุงซ่อมแซมอีกครั้งด้วยเงินบำรุงการศึกษาปีการศึกษา 2542

7. อาคารสำนักงานอธิการบดี ก่อตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 โดยมหาวิทยาลัยได้รับงบจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 58 ล้านเศษ เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ และได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย โดยย้ายสำนักงานอธิการบดีไปอยู่หลังใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จึงได้เปิดใช้สำนักงานอธิการบดี

 

ผู้บริหาร

          สำนักงานอธิการบดีมีผู้บริหารมาแล้ว  25 คน ดังต่อไปนี้

          1.  นายเกลิ่ม คงแสง                         

         2.  นายจรุณห์ เพชรมุนี                       

         3.  นายสมศักดิ์ ขาวลาภ                      

          4.  นายสุคนธ์ พิทักษ์วงศ์                      

          5.  นายวรวิทย์ จินดาพล                      

          6.  นายสมบูรณ์ จันทวี                        

          7.  นายวิมล ดำศรี                             

         8.  นายนุภาพ มนต์เลี้ยง                      

          9.  นายฉัตรชัย ศุกระกาญจน์                 

          10. นายณรงค์ อุ้ยนอง                       

         11. นายแอบ ชามทอง                       

          12.  นายเสรี นังคลา                         

          13.  นายเทียนชัย เหวรารักษ์               

          14.  นายดำรง ศรีใส                         

          15.  นายวีระยุทธ ชาตะกาญจน์              

         16.  นางวรดี เลิศไกร                        

         17.  นายสุรพล เรืองรอง (รักษาการ)       

         18.  นายวิมล ดำศรี (รักษาการ)            

         19.  นายประกอบ ใจมั่น (รักษาการ)       

         20.  นางสุจารี แก้วคง (รักษาการ)          

         21.  นายสมปอง รักษาธรรม (รักษาการ)   

         22.  นางสุจารี แก้วคง (รักษาการ)          

         23.  นายวันชัย เอื้อจิตรเมศ (รักษาการ)    

         24.  นายวิชิต  สุขทร (รักษาการ)

         25.  นางทัศนีย์  พาเจริญ (รักษาการ)

         26.  นางสาวสุดใจ สุขคง (ปัจจุบัน)